วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

มหาเวสสันดรชาดก เป็นชีวประวัติเรื่องหนึ่งในทศชาติชาดก กล่าวถึงพระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ในการบำเพ็ญทานบารมี ก่อนจะทรงอุบัติเป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีชื่อเรียกอีกอย่างว่า "มหาชาติชาดก"
กัณฑ์ทศพร
ริ่มตั้งแต่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ แล้วเสด็จไปเทศนาโปรด ต่อจากนั้นเสด็จไปโปรดพุทธบิดาและพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ เกิดฝนโบกขรพรรษ พระสงค์สาวกกราบทูลอาราธนาให้ทรงแสดงเรื่องมหาเวสสันดรชาดก เริ่มตั้งแต่เมื่อกัปที่ 98 นับแต่ปัจจุบัน พระนางผุสดีซึ่งจะทรงเป็นพระมารดาของพระเวสสันดร ทรงอธิษฐานขอเป็นมารดาของผู้มีใจบุญ จบลงตอนพระนางได้รับพร 10 ประการจากพระอินทร์ อานิสงส์ของผู้บูชากัณฑ์นี้คือ ผู้นั้นจะได้รับทรัพย์สมบัติดังปรารถนา ถ้าเป็นสตรีจะได้สามีที่เป็นที่ชอบเนื้อเจริญใจ บุรุษจะได้ภรรยาเป็นที่ต้องประสงค์อีกเช่นเดียวกันจะได้บุตรหญิงชายเป็นคนว่านอนสอนง่ายมีรูปกายงดงามมีความประพฤติดีกิริยาเรียบร้อยทุกประการฯ
กัณฑ์หิมพานต์
พระเวสสันดรทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสัญชัยกับพระนางผุสดี แห่งแคว้นสีวีราษฎร์ประสูติที่ตรอกพ่อค้า เมื่อพระเวสสันดรได้รับเวนราชสมบัติจากพระบิดา ได้พระราชทานช้างปัจจัยนาเคนทร์แก่กษัตริย์แคว้นกลิงคราชฎร์ ประชาชนไม่พอใจ พระเวสสันดรจึงถูกพระราชบิดาเนรเทศไปอยู่ป่าหิมพานต์ อานิสงส์ของผู้บูชากัณฑ์นี้คือ ย่อมได้สิ่งที่ปรารถนาทุกประการ ครั้นตายแล้วได้บังเกิดในสุคติโลกสวรรค์เสวยสมบัติอันมโหฬาร มีบริวารแวดล้อมบำรุงบำเรออยู่เป็นนิตย์จุติจากสวรรค์แล้ว จะลงมาเกิดในตระกูลขัตติยะมหาศาลหรือตระกูลพราหมณ์มหาศาลอันบริบูรณ์ด้วยทรัพย์ศฤงคารบริวารมากมายนานาประการจะประมาณมิได้ ประกอบด้วยการสบายใจทุกอิริยาบถ

กัณฑ์ทานกัณฑ์
ก่อนเสด็จไปอยู่ป่า พระเวสสันดรได้พระราชทานสัตสดกมหาทาน คือช้าง ม้า รถ ทาสชาย ทาสหญิง โคนม และ นางสนม อย่างละ 700 อานิสงส์ของผู้บูชากัณฑ์นี้คือ จะบริบูรณ์ด้วยแก้วแหวนเงินทอง ทาส ทาสี และสัตว์ 2 เท้า 4 เท้า ครั้นตายแล้วจะได้ไปเกิดในฉกาพจรสวรรค์มีนางเทพอัปสรแวดล้อมมากมายเสวยสุขในปราสาทแล้วด้วยแก้ว 7 ประการ.............
กัณฑ์วนปเวสน์
พระเวสสันดรทรงพาพระนางมัทรีและพระชาลี ( โอรส ) พระกัณหา (ธิดา ) เสด็จจากเมืองผ่านแคว้น เจตราษฎร์ จนเสด็จถึงเขาวงกตในป่าหิมพานต์ อานิสงส์ของผู้บูชากัณฑ์นี้คือ จะได้รับความสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้าจะได้เป็นบรมกษัตริย์ในชมพูทวีป เป็นผู้ทรงปรีชาเฉลียวฉลาดสามารถปราบอริราชศัตรูให้ย่อยยับไป
กัณฑ์ชูชก
ชูชกพราหมณ์ ขอทานได้นางอมิตตาบุตรสาวของเพื่อนเป็นภรรยา นางใช้ให้ชูชกไปขอสองกุมาร ชูชกเดินทางไปสืบข่าวในแคว้นสีวีราษฎร์ สามารถหลบหลีกการทำร้ายของชาวเมือง พบพรานเจตบุตรลวงพรานเจตบุตรให้บอกทางไปยังเขาวงกต อานิสงส์ของผู้บูชากัณฑ์นี้คือ จะได้บังเกิดในตระกูลกษัตริย์ ประกอบด้วยสมบัติอันงดงามกว่าคนทั้งหลาย จะเจรจาปราศรัยก็ไพเราะเสนาะโสต แม้จะได้สามีภรรยา และบุตรธิดาก็ล้วนแต่มีรูปทรงงดงามสอนง่าย
กัณฑ์จุลพน
ชูชกเดินทางผ่านป่าตามเส้นทางที่เจตบุตรแนะจนถึงที่อยู่ของอัจจุตฤๅษี อานิสงส์ของผู้บูชากัณฑ์นี้คือ แม้จะบังเกิดในปรภพใดๆ จะเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสมบัติบริวาร จะมีอุทยานอันดารดาษด้วยไม้หอมตรลบไป แล้วจะมีสระโบกขรณีอันเต็มไปด้วยประทุมชาติ ครั้นตายไปแล้วก็ได้เสวยทิพยสมบัติในโลกหน้าสืบต่อไป
กัณฑ์มหาพน
ชูชกลวงอัจจุตฤๅษี ให้บอกทางผ่านป่าไม้ใหญ่ไปยังที่ประทับของพระเวสสันดร อานิสงส์ของผู้บูชากัณฑ์นี้คือ จะเสวยสมบัติใดในดาวดึงส์เทวโลกนั้นแล้ว จะได้ลงมาเกิดเป็นกษัตริย์มหาศาล มีทรัพย์ศฤงคารบริวารมากมี อุทยานและสระโบกขรณีที่เป็นประพาส เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยศักดานุภาพเฟื่องฟุ้งไปทั่วชมพูทวีป อีกทั้งจักได้เสวยอาหารทิพย์เป็นนิตย์นิรันดร
กัณฑ์กุมาร
ชูชกทูลขอสองกุมาร ทุบตีสองกุมารเฉพาะพระพักตร์พระเวสสันดร แล้วพาออกเดินทาง อานิสงส์ของผู้บูชากัณฑ์นี้คือ ย่อมประสบผลสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนา ครั้นตายไปแล้วได้เกิดในฉกามาพจรสวรรค์ในสมัยที่พระศรีอาริยาเมตไตรมาอุบัติก็จะได้พบศาสนาของพระองค์ จะได้ถือปฏิสนธิในตระกูลกษัตริย์ ตลอดจนได้สดับตรับฟังพระสัทธรรมเทศนาของพระองค์ แล้วบรรลุพระอรหัตตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้ง 4 ด้วยบุญราศีที่ได้อบรมไว้
กัณฑ์มัทรี
พระนางมัทรีเสด็จกลับจากหาผลไม้ในป่าออกติดตามสองกุมารตลอดทั้งคืน จนถึงทรงวิสัญญี ( สลบ ) เฉพาะพระพักตร์พระเวสสันดร เมื่อทรงฟื้นแล้วพระเวสสันดรตรัสเล่าความจริงเกี่ยวกับสองพระกุมาร พระนางทรงอนุโมทนาด้วย อานิสงส์ของผู้บูชากัณฑ์นี้คือ เกิดในโลกหน้าจะเป็นผู้มั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติเป็นผู้มีอายุยืนยาวทั้งประกอบด้วยรูปโฉมงดงามกว่าคนทั้งหลาย จะไปในที่ใดๆ ก็จะมีแต่ความสุขทุกแห่งหน
กัณฑ์สักกบรรพ
พระอินทร์เกรงว่าจะมีผู้มาขอพระนางมัทรี จึงแปลงเป็นพราหมณ์ชรามาทูลขอพระนางมัทรีแล้วฝากไว้กับพระเวสสันดร อานิสงส์ของผู้บูชากัณฑ์นี้คือ จะเป็นผู้ที่เจริญด้วยลาภยศตลอดจนจตุรพิธพรทั้ง 4 คืออายุ วรรณะ สุขะ พละ ตลอดกาล
กัณฑ์มหาราช
ชูชกเดินทางเข้าไปแคว้นสีวีราษฎร์ พระเจ้ากรุงสญชัย ทรงไถ่สองกุมาร ชูชกได้รับพระราชทานเลี้ยง และ ถึงแก่กรรมด้วยกินอาหารมากเกินควร อานิสงส์ของผู้บูชากัณฑ์นี้คือ จะได้มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ และนิพพานสมบัติเมื่อเกิดเป็นมนุษย์จะได้เป็นพระราชาเมื่อจากโลกมนุษย์ไปก็จะไปเสวยทิพยสมบัติ ในฉกามาพจรสวรรค์มีนางเทพอัปสรเป็นบริวาร ครั้นบารมีแก่กล้าก็จะได้นิพพานสมบัติอันตัดเสียซึ่งชาติ ชรา พยาธิ มรณะ พ้นจากโอฆะทั้งสามมีกาโมฆะ เป็นต้น
กัณฑ์ฉกษัตริย์
กษัตริย์แคว้นถลิงราชย์ทรงคืนช้างปัจจัยนาเคนทร์ พระเจ้ากรุงสญชัย พระนางผุสดี พระชาลี พระกัณหา เสด็จไปทูลเชิญพระเวสสันดร พระนางมัทรีกลับพระนคร เมื่อกษัตริย์ทั้งหกพระองค์ทรงพบกันก็ทรงวิสัญญี ต่อมาฝนโบกขรพรรษตกจึงทรงฟื้นขึ้น อานิสงส์ของผู้บูชากัณฑ์นี้คือ จะได้เป็นผู้ที่เจริญด้วยพร 4 ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ทุกๆ ชาติแล
กัณฑ์นครกัณฑ์
กษัตริย์หกพระองค์เสด็จกลับพระนคร พระเวสสันดรได้ครองราชย์ดังเดิม บ้านเมืองสมบูรณ์พูนสุข จนพระชนมายุได้ 120 พรรษา จึงเสด็จสวรรคนิคาลัย อานิสงส์ของผู้บูชากัณฑ์นี้คือ จะได้เป็นผู้บริบูรณ์ด้วยวงศาคณาญาติข้าทาสชาย-หญิง ธิดา สามี หรือบิดามารดา เป็นต้นอยู่พร้อมหน้ากันด้วยความผาสุก ปราศจากโรคาพาธทั้งปวง จะทำการใดๆ ก็พร้อมเพียงกันยังการงานนั้นๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี



<!--[if !vml]-->
 สรุปเนื้อหา


      
            มหาเวสสันดรชาดก เป็นชีวประวัติเรื่องหนึ่งในทศชาติชาดก กล่าวถึงพระชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ในการบำเพ็ญทานบารมี ก่อนจะทรงอุบัติเป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า "มหาชาติชาดก"  มหาชาติ  เป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ของพระโพธิสัตว์ที่ได้เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดรและเป็นพระชาติสุดท้ายก่อนจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  คนไทยรู้จักและคุ้ยเคยกับมหาชาติมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย  ดังที่ปรากฏในหลักฐานในจารึกนครชุม  และในสมัยอยุธยาก็ได้มีการแต่งและสวดมหาชาติคำหลวงในวันธรรมสวนะ  ส่วนการเทศน์มหาชาติเป็นประเพณีที่สำคัญในทุกท้องถิ่นและมีความเชื่อกันว่า  การฟังเทศน์มหาชาติจบภายในวันเดียวจะได้รับอานิสงส์มาก






คำศัพท์
กรุงกบิลพัสดุ์  =  ชื่อเมืองหลวงของแคล้นสักกะ  เป็นเมืองของพระเจ้าสุทโธทนะพระราชบิดาของเจ้าชายสิทธัตถะ  ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศเนปาล  ติดชายแดนตอนเหนือของประเทศอินเดีย
คาถาพัน  =  บทประพันธ์เรื่องมหาเวสสันดรชาดกที่แต่งเป็นภาษาบาลีล้วน ๆ พันบท  เรียกการเทศน์มหาเวสสันดรชาดกที่เป็นคาถาล้วน ๆ อย่างนี้ว่า  เทศน์คาถาพัน
จุติ  =  เคลื่อน  เปลี่ยนสภาพจากกำเนิดหนึ่งไปเป็นอีกกำเนิดหนึ่ง  มักใช้แก่เทวดา
ดาวดึงส์สวรรค์  =  ชื่อสวรรค์ชั้นที่ 2 แห่งสวรรค์ 6 ชั้น  มีพระอินทร์เป็นผู้ครอง
ทศบารมี  =  บารมี 10 ประการ  ได้แก่  ทาน  ศีล  เนกขัมมะ  ปัญญา  วิริยะ  ขันติ  สัจจะ  อธิษฐาน  เมตตา  อุเบกขา
เนรเทศ  =  บังคับให้ออกไปเสียจากประเทศหรือถิ่นที่อยู่ของตน
บุตรทารทาน  =  การให้ทานโดยสละบุตรและภรรยา (ทาร)
ปิยบุตรทาน  =  ให้ลูกรักเป็นทาน
ฝนโบกขรพรรษ  =  ฝนที่มีสีแดง  ฝนชนิดนี้กล่าวไว้ว่าใครอยากจะให้เปียก  ก็เปียก  ถ้าไม่อยากให้เปียกก็ไม่เปียก  เหมือนน้ำตกลงบนใบบัว
พิสดาร  =  กว้างขวาง  ละเอียดลออ  (ใช้แก่เนื้อความ)  แปลก  พิลึก (ปาก)
มหาชาติ  =  เรียกเวสสันดรชาดกว่า  มหาชาติ  การเทศน์เรื่องมหาเวสสันดรชาดกเรียกว่า  เทศน์มหาชาติ
ยมกปฏิหาริย์  =  ปาฏิหารย์ที่แสดงเป็นคู่ ๆ เป็นปาฏิหารย์ที่พระพุทธเจ้าทรงกระทำที่ต้นมะม่วงซึ่งเรียกว่า  คัณฑามพฤกษ์  คือทรงบันดาลท่อน้ำท่อไฟจากส่วนของพระกายเป็นคู่ ๆ กัน
ลาผนวช  =  มีความหมายาเดียวกับลาสิขา  คือลาสึก  ลาจากเพศสมณะ
สัตตสดกมหาทาน  =  การทำทานครั้งใหญ่โดยให้สิ่งของ 7 อย่าง  อย่างละ 700 ได้แก่  ช้าง  ม้า  รถ  สตรี  แม่โคนม  ทาสชาย  ทาสหญิง
อนุโมทนา  =  ยินดีตาม  ยินดีด้วย  พลอยยินดี
อานิสงส์  =  ผลแห่งกุศลกรรม  ผลบุญ  ประโยชน์
อาศรม  =  ที่อยู่ของนักพรต




วิเคราะห์คุณค่าวรรณคดี
          คุณค่าด้านวรรณศิลป์

          นื่องจากเรื่องที่นำมาเรียนนี้เป็นเรื่องเล่าในลักษณะความเรียงจึงเป็นร้อยแก้ว  บรรยายโวหาร  ในส่วนที่หยิบยกมาเป็นตัวอย่างจากเนื้อเรื่องจริง  ได้ยกจากตอนพระอจุตฤาษีบอกเส้นทางไปเขาวงกตแก่ชูชก  ซึ่งได้พรรณนาโดยใช้คำอนังการ  และสัมผัสแพรวพราว  เช่น
          "แลถนัดในเบื้องหน้าโน้น  ก็เขาใหญ่  ยอดเยี่ยมโพยมอย่างพยับเมฆ  มีพรรณเขียวขาวดำแดงดูดิเรก  ดั่งรายรัตนพมหณีแนมน่าใคร่ชม  ครั้นแสงพระสุริยะส่งระดมก็ดูเด่นดั่งดวงดาว  วาวแวววะวาบ ๆ ที่เวิ้งวุ้ง  วิจิตรจำรูญรุ่งเป็นสีรุ้งพุ่งพ้นเพิ่งคัคนัมพรพื้นนภากาศ  บ้างก็ก่อเกิดก้อนประหลาดศิลาลายและละเลื่อม ๆ ที่งอกง้ำเป็นแง่เงื้อม..."
                                                                                                                                                                          (กัณฑ์ที่ 7 มหาพน)
          สำนวนที่มาจากเรื่องมหาเวสสันดรชาดกที่ใช้ในปัจจุบัน  เช่น
          ชักแม่น้ำทั้งห้า  หมายถึง  พูดจาหว่านล้อมด้วยคำยกยอ  ดังที่ชูชกจะกล่าวขอสองกุมารต่อพระเวสสันดรก็ได้พูดจาชักแม่น้ำทั้งห้า (คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู และมหิ)  มาเปรียบเทียบเสียก่อนแล้วจึงย้อนขอในภายหลัง
          ตีปลาหน้าไซ  หมายถึง  ตีหรือกระทุ่มน้ำตรงหน้าไซให้ปลาแตกตื่นหนีไปจากไซที่ดักไว้  เป็นการทำทำที่ขัดขวางผลประโยชน์ที่ควรมีควรได้อยู่แล้ว  เสมือนตอนที่ชูชกตีสองกุมารต่อหน้า  ทำให้พระเวสสันดรโกรธเคือง

          คุณค่าด้านแนวคิดและคติชีวิต
          
1.  การทำบุญจะให้ทำเสร็จสมประสงค์ต้องอธิษฐานจิต  ตั้งเป้าหมายชีวิตที่ตนปรารถนาไว้  ความปรารถนาที่จะสำเร็จสมดังตั้งใจผู้นั้นต้องมีศีลบริบูรณ์กล่าวคือ
                     ต้องกระทำความดี
                     ต้องรักษาความดีนั้นไว้
                     หมั่นเพิ่มพูนความดีให้มากยิ่งขึ้น
          2.  การทำความดีต้องทำเรื่อยไป  ทุกชาติทุกภพต่อเนื่องไม่ขาดสาย
          3.  ในเรื่องมหาชาติได้แสดงตัวอย่างของพระชาติที่ยิ่งใหญ่ด้วยทศบารมี  เห็นตัวอย่างการบำเพ็ญบารมีอันยากยิ่งที่มนุษย์ปุถุชนธรรมดาจะทำได้
          4.  คุณค่าของมหาชาติเป็นเรื่องที่ประจักษ์ชัดในศรัทธาของพุทธศาสนิกชนมายาวนานตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย  ดังที่ปรากฏในจารึกนครชุม  ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานที่เป็นวรรณคดีลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุด
          5.  แสดงให้เห็นถึงความเชื่อ  ความศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่อยู่คู่กับสังคมไทยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
          6.  สะท้อนให้เห็นถึงประเพณีทางศาสนาที่สำคัญเกี่ยวกับการทำบุญ  ฟังเทศน์มหาชาติให้จบวันเดียวครบบริบูรณ์ ทั้ง 13 กัณฑ์  เป็นเหตุให้สำเร็จความปรารถนาทุกประการดังนี้
                      เมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้ว  จะมีโอกาสได้พบพระพุทธเจ้าพระนามว่า  ศรีริยเมตไตยในอนาคต
                     เมื่อดับขันธ์ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์  จะเสวยทิพย์สมบัติมโหฬาร
                     เมื่อตายไปแล้วจะไม่ตกนรก
                     -
  เมื่อถึงยุคพระศรีอริยเมตไตย  จะได้จุติไปเกิดเป็นมนุษย์
                     -
  เมื่อได้ฟังธรรมต่อหน้าพระพักตร์ของพระพุทธองค์  จะได้ดวงตาเห็นธรรม  เป็นพระอริยบุคคลในบวรพระพุทธศาสนา
          7.  มหาชาติใสนแต่ละท้องถิ่นมักจะแสดงให้เห็นถึงลักษณะวิถีชีวิต  ความเป็นอยู่  ความเชื่อได้อย่างชัดเจน

          มหาชาติ  หรือเวสสันดรชาดกมีคุณค่าทั้งด้านเนื้อความและด้านวรรณศิลป์เพราะแต่ละสำนวนเกิดขึ้นจากความเชื่อและความศรัทธาในพุทธศาสนา  ทั้งยังเป็นมรดกทางวัฒนธรรม  สำคัญของคนในท้องถิ่นที่ควรอนุรักษ์และสืบทอดต่อไป